50010611021

โขนพระราชทานตอนนางลอย



ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และประธานคณะกรรมการอำนวยการสร้างการแสดงโขน ชุด นางลอย เปิดเผยว่า “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ที่ในระยะหลังทรงเห็นถึงความซบเซาของนาฏกรรมตามแบบประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโขน เพื่อให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ สำหรับใช้ในการแสดงพระราชทาน เพื่อเป็นการสืบสานฝีมือเชิงช่าง ทั้งช่างทำหัวโขน ช่างปักสะดึงกรึงไหม และช่างเงินช่างทอง รวมทั้งศิลปะการแต่งหน้า โดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อาทิ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบควบคุมการสร้าง พัสตราภรณ์ และถนิมพิมพาภรณ์ (เครื่องประดับ) อาจารย์สุรัตน์ จงดา ควบคุมการจัดสร้างหัวโขน และ  ศิราภรณ์ อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ออกแบบและควบคุมการจัดสร้างฉากและสิ่งของประกอบการแสดง ซึ่งการจัดสร้างเครื่องแต่งกายและสิ่งของประกอบทุกชิ้น ได้ยึดตามรูปแบบโบราณที่ค้นคว้ามาอย่างละเอียด เมื่อจัดสร้างเสร็จสมบูรณ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงจัดการแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุด พรหมาศ เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และมีผู้ชมเป็นจำนวนมากเรียกร้องให้จัดแสดงใหม่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลาบปลื้มพระราชหฤทัยที่การแสดงโขนประสบความสำเร็จเกินคาด จึงมีพระราชดำริให้จัดแสดงโขนต่อเนื่องทุกปีเพื่อเป็นการอนุรักษ์โขน ซึ่งเป็นการแสดงชั้นสูงของไทย และให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมตามแบบประเพณีโบราณ โดยในปีนี้ทรงเลือกบทรามเกียรติ์ ตอน  นางลอย มาจัดแสดง ซึ่งเป็นโขนตอนที่มีความสนุกสนานน่าชม และเป็นที่นิยมมาโดยตลอด”

นาฏศิลป์

นาฏศิลป์ หมายถึงศิลปะการแสดงประกอบดนตรีเช่น ฟ้อน รำ ระบำ โขน แต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกและมีลีลาท่าการแสดงที่แตกต่างกันไป สาเหตุหลักมาจากภูมิอากาศ ภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น ความเชื่อ ศาสนา ภาษา นิสัยใจคอของผู้คน ชีวิตความเป็นอยู่